Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61185
Title: รูปแบบและการให้บริการของ "รถพุ่มพวง" ต่อพัฒนาการของชุมชนบ้านจัดสรร : รายงานวิจัย
Authors: ยุวดี ศิริ
Email: [email protected]
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
Subjects: รถพุ่มพวง
บ้านจัดสรร
ร้านขายของชำ
รถยนต์
Issue Date: 2558
Publisher: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: “รถพุ่มพวง” หรือที่บางคนก็เรียกว่า รถเร่ขายผัก รถขายกับข้าว รถตลาดสดเคลื่อนที่ ฯลฯ รถขายสินค้าประเภทนี้มีจุดเด่นที่การบรรจุสินค้าห้อยที่ข้างรถลักษณะเป็นพวง ๆ เพื่อให้เกิดสะดวกแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รถพุ่มพวงจะบรรทุกสินค้าที่จำเป็นต่อการประกอบอาหารประจำวันตระเวนขายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในย่านที่ห่างไกลแหล่งสาธารณูปการ เช่น ตลาด ร้านค้า ฯลฯ หรือ ในพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงห่างไกลจากรถบริการสาธารณะ รวมถึงในพื้นที่มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นใหม่ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและชุมชนย่อย ๆ ที่มีทั้งชาวบ้านทั่วไป แรงงานไทย-ต่างด้าว ที่ยังไม่คุ้นเคยกับทำเลและวิธีการเดินทาง เพื่อจะได้มีช่องทางในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการบริโภคในแต่ละวัน จากการวิจัยเรื่อง รูปแบบและการให้บริการของ “รถพุ่มพวง” ของต่อพัฒนาการของชุมชนบ้านจัดสรร มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลรูปแบบและการให้บริการของรถเร่ขายของที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และศึกษารูปแบบและการให้บริการของรถเร่ขายของที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของ หมู่บ้านจัดสรร ผู้วิจัยพบว่า พื้นที่การให้บริการของรถพุ่มพวงส่วนใหญ่จะกระจายตัวไปยังพื้นที่ห่างไกลจาก การให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นตาม เส้นทางการคมนาคมเกิดใหม่ที่กระจายตัวออกไปยังพื้นที่ชานเมือง โดยรถพุ่มพวงจะเริ่มต้นเข้าไปขายสินค้า ให้กับคนงานก่อสร้าง และพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นชุมชนย่อยๆ หรือโรงงานทั่วไป โดยจับกลุ่มผู้มีรายได้ น้อย-ปานกลางเป็นหลัก จนเมื่อการก่อสร้างหมู่บ้านแล้วเสร็จพร้อมอยู่ ผู้ประกอบการโครงการเริ่มโอนบ้าน จัดสรรให้กับผู้ซื้อรถพุ่มพวงก็จะเปลี่ยนการขายสินค้าให้คนงานก่อสร้างมาขายให้ผู้ซื้อบ้านในโครงการจัดสรร ที่ยังไม่คุ้นเคยกับทำเลและวิธีการเดินทางไปยังตลาดหรือแหล่งการค้าในย่านนั้น ดังนั้น กลุ่มลูกค้าของรถพุ่มพวง จึงมีตั้งแต่คนงานตามแค้มป์ ก่อสร้าง คนงานตามโรงงาน จนเมื่อมีผู้เข้าอยู่ ในโครงการบ้านจัดสรร จากลูกค้าที่เป็นคนงาน ก็จะขยับมาเป็นลูกค้าที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ลูกค้า ในส่วนนี้ก็จะมีตั้ง แต่แม่บ้าน คนรับใช้ และกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สะดวกที่จะเดินทางออกไปนอก หมู่บ้าน นอกจากนี้แล้วยังพบลูกค้าที่เป็นร้านอาหารตามสั่งที่จะสั่งสินค้าจากรถพุ่มพวงเป็นประจำ เพื่อ ประหยัดเวลาและความสะดวกที่ต้องไปซื้อ และขนส่งสินค้ากลับมายังร้านค้าเอง จากการศึกษาพบว่า รถพุ่มพวงจะจอดให้บริการเป็นจุดๆละประมาณ 20-30 นาที จุดจอดส่วนใหญ่จะ ได้แก่ หมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แค้มป์ คนงานก่อสร้าง และชุมชนย่อยๆ ในการจอดแต่ละ ที่จะมีช่วงเวลาในการจอดที่แน่นอน ปริมาณสินค้าที่ขายในรถพุ่มพวงส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับพฤติกรรมและ รายได้ครัวเรือนของผู้จับจ่ายที่ซื้อสินค้า สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภทผักพื้นฐานต่างๆ โดยจะจัดขายเป็นถุงๆ ราคาตั้งแต่ถุงละ 5-20 บาท เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อ และเก็บเงิน ส่วนอาหารที่เป็นประเภทเนื้อสัตว์ก็จะมีทั้ง แบบเหมาจ่าย(แพ็คมาแล้ว เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ) และชั่งตามน้ำหนัก(ปลา หมู ไก่ ฯลฯ) นอกจากสินค้าที่จำเป็นต่อการประกอบอาหารแล้ว รถพุ่มพวงยังมีบริการพิเศษอันเป็นการเสริมรายได้ เช่น การให้บริการซื้อสินค้าตามรายการที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น การส่งสินค้าให้กับร้านค้าอาหารตามสั่งหรือ การ สั่งซื้อของตามรายการเฉพาะอย่างซึ่งก็มีทั้งที่โทรศัพท์มาสั่งเป็นรายวัน โดยผู้ซื้ออาจต้องการสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษที่ไม่มีขายเป็นประจำ และสั่งล่วงหน้าในช่วงเทศกาล เช่น หัวหมู ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ฯลฯ หรือ เทศกาลพิเศษที่ผู้ซื้อ อาจจะต้องการของเป็นจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น การศึกษาในครั้งนี้นอกจากผู้วิจัยจะพบผู้ให้บริการรถพุ่มพวงในรูปแบบของรถกระบะบรรทุกสินค้าแล้ว ผู้วิจัยยังพบรถพุ่มพวงในรูปแบบที่ใช้จักรยานยนต์ และจักรยานยนต์พ่วงข้าง ขายสินค้าในลักษณะเดียวกันกับ รถกระบะพุ่มพวงอีกด้วย โดยพบความแตกต่างในด้านประเภทสินค้ากล่าวคือ รถจักรยานยนต์พุ่มพวงและ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างพุ่มพวงนั้นจะไม่ค่อยมีสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส และขนมขบเคี้ยว แต่จะ เน้นขายเฉพาะผักพื้นฐานเป็นสินค้าหลัก ส่วนการนำเสนอพบว่าไม่มีความแตกต่าง กล่าวคือยังคงเป็นการ นำเสนอการขายสินค้าในลักษณะที่เป็นพวงห้อยในลักษณะเดียวกับรถกระบะพุ่มพวง โดยพบว่าการเลือกใช้รถ ต่างประเภทกันนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงพื้นที่ๆ ให้บริการเป็นหลัก ว่าจะสามารถเข้าถึงได้ด้วยรถ ลักษณะใด ซึ่งพบว่าในตรอกซอกซอยขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์จะมีการเข้าถึงที่คล่องตัวมากกว่าและพื้นที่ ให้บริการมักอยู่ในย่านชุมชนใจกลางเมือง ส่วนรถกระบะพุ่มพวงจะให้บริการในเส้นทางที่ไกลออกไปตามชาน เมืองที่ยังขาดแคลนรถบริการสาธารณะและห่างไกลจากตลาดและแหล่งซื้อสินค้า ผลศึกษาครั้งนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า รถพุ่มพวงเป็นรูปแบบการปรับตัวของผู้ขายสินค้าเพื่อนำสินค้าและ บริการ ไปขายให้กับผู้ซื้อสินค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างการนำสินค้าจำเป็นที่ขายในตลาดสด มาผสมผสานกับสินค้าที่ถูกขายในร้านโชห่วยแบบดั้ง เดิม และเพิ่มการให้บริการรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ แบบที่มีในร้านค้าปลีกยุคใหม่เข้าไปด้วย โดยเน้นวิธีการนำสินค้าไปขายโดยตรงให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ในระดับราคาล่าง-ปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกลการให้บริการของรถสาธารณะ โดยการซื้อสินค้าจะเป็นการซื้อแบบวันต่อวันในปริมาณที่เพียงพอที่จะบริโภคใน 1-2 วันเท่านั้น ดังนั้น รูปแบบการนำเสนอขายสินค้าที่ถุงๆแบบพ่วงห้อย จึงทำให้ผู้ซื้อสามารถประมาณราคาสินค้าที่จะบริโภคในแต่ละครั้งได้และสะดวกต่อการคำนวณราคาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในด้านราคาพบว่า สินค้าที่ขายอยู่จะมีราคาสูงกว่าที่ขายในตลาดสดและร้านโชห่วยประมาณ 10-15% แต่ ผู้ซื้อ เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากค่าเดินทางและระยะเวลาที่ต้องเสียไปแล้ว ก็ยังเป็นราคาที่ยอมรับได้และยินดีที่จะ จ่าย ในด้านเส้นทางและวิธีการจำหน่ายสินค้าของรถพุ่มพวงนั้น ผู้ขายส่วนใหญ่จะเลือกไปในเส้นทางคมนาคมที่ กระจายออกไปในย่านชานเมือง โดยเฉพาะถนนที่มีการตัดขึ้นใหม่ที่ห่างไกลจากการให้บริการของรถสาธารณะ และห่างไกลแหล่งจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะตลาดสด ดังนั้น จะเห็นว่าเมื่อโครงข่ายคมนาคมขยายออกไปก็จะมี กลุ่มนักพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรรเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อขึ้นโครงการ กลุ่มคนงาน ก่อสร้างก็ดี หรือผู้ซื้อบ้านในโครงการจัดสรรใหม่เหล่านี้ก็ดี เหล่านี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆของรถพุ่มพวง ในขณะเดียวกันรถพุ่มพวงก็จะมีลูกค้าทั้งส่วนที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ต้องการ เดินทางออกนอกพื้นที่ และชุมชนย่อยตามตรอกซอกซอยที่ไม่ค่อยมีรถสาธารณะให้บริการ และเมื่อนำรูปแบบการให้บริการของรถพุ่มพวงไปวิเคราะห์ร่วมกับทฤษฎีแหล่งกลางหรือทฤษฎีย่านกลาง แล้วพบว่า รถพุ่มพวงจะเป็นตัวกระชับให้รัศมีการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายใช้สอย เช่น ตลาดตามลำดับศักย์ต่างๆได้ เข้ามาใกล้ผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นกล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อมีปัญหาในการเดินทางไปยังแหล่งกลางเหล่านี้จากความไม่พร้อม ของรถสาธารณะก็ดี หรือ การไม่คุ้นเคยกับพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ก็ดี รถพุ่มพวงก็จะเป็นตัวกลางที่จะนำสินค้าจาก แหล่งกลางเหล่านี้ขนส่งไปให้บริการแก่ชุมชนตามชานเมืองและพื้นที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
Description: สารบัญ : ความหมายของสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ -- แนวคิดเรื่องตลาด-ตลาดนัด -- แนวคิดเรื่องโชห่วย -- พัฒนาการของร้านค้าปลีก -- แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผังจัดสรร -- บริบทเกี่ยวกับร้านพุ่มพวง -- รูปแบบและปริมาณสินค้า -- ประเภทสินค้าที่ขายอยู่ในรถพุ่มพวง -- รถพุ่มพวงในแต่ละโซน
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61185
Type: Technical Report
Appears in Collections:Arch - Research Reports

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Yuwadee S_Res_2558.pdfFile Fulltext (view only)18.72 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.