Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61096
Title: ปัญหาการกำหนดฐานภาษีและอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าบุหรี่เพื่อควบคุมปริมาณการบริโภค
Authors: ไอรวีณ์ ทองอร่าม
Advisors: ทัชชมัย ทองอุไร
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะนิติศาสตร์
Advisor's Email: [email protected]
Subjects: ภาษีบุหรี่
โฆษณา -- บุหรี่
Issue Date: 2560
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: บุหรี่เป็นสินค้าที่บริโภคแล้วก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมถึงการสูญเสียแรงงานอันเกิดจากอัตราการป่วยและ เสียชีวิตของผู้สูบ รัฐจึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการบริโภคบุหรี่ผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งมาตรการ ทางภาษีเป็นมาตรการที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่ทั่วโลกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริโภค การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการปรับใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตเพื่อ ลดปัญหาและผลกระทบต่อการควบคุมปริมาณการบริโภคบุหรี่ อันเนื่องมาจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของประเทศสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์กโครงสร้างภาษีบุหรี่ของไทยมีการกำหนดอัตราภาษีสองอัตราที่แตกต่างกันตามราคาขายปลีกของบุหรี่ กล่าวคือ บุหรี่ที่มีราคาขายไม่เกิน 60 บาท คิดภาษีในอัตรา 20% และบุหรี่ที่มีราคาขายเกิน60 บาท คิดภาษีในอัตรา 40% ซึ่งเกิดเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้นำเข้าบุหรี่หรือบุหรี่นอกปรับลดราคาขายปลีกบุหรี่ลงมาเหลือ 60 บาทต่อซอง เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ การลดราคาของบุหรี่นอกไม่ใช่เพียงแค่ลดราคาลงมาจากเดิมเท่านั้น แต่เป็นการลด ราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับบุหรี่ระดับล่าง เน้นขยายกลุ่มผู้บริโภค เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบุหรี่ เป็นกลยุทธ์ทางราคาที่ประสบผล เพราะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากโรงงานยาสูบได้ จากเดิม โรงงานยาสูบเป็นผู้ผูกขาดโดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 80% แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 56% จากที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น การปรับลดราคาเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีและเพิ่มความสามารถใน การเข้าถึงสินค้าบุหรี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่องโหว่ของกฎหมาย และมีผลกระทบโดยตรงต่อการ ควบคุมปริมาณการบริโภคบุหรี่ เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเลือกบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าแทนการลด ปริมาณหรือเลิกสูบบุหรี่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายภาษีสรรพสามิตของ ไทยไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม แม้การกำหนดอัตราภาษีสองอัตราจะใช้ในช่วงระยะเวลาสองปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากนั้นคิดภาษีที่อัตราเดียวกันหมดที่ 40% แต่ด้วยระยะเวลาสองปีเป็นระยะเวลาที่นานพอที่จะทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม การเสพติดรสชาติหรือค่านิยมบุหรี่แบรนด์นอกจะส่งผลต่อเนื่องไปในอนาคต การกลับมาใช้อัตราภาษีเดียวไม่สามารถควบคุมการบริโภคได้ในทันที ผลการวิจัยแนวทางการปรับใช้กฎหมาย พบว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานภาษีบุหรี่จากปัจจุบันที่ใช้ฐานผสม คือ การคำนวณร่วมกันทั้งฐานตามปริมาณและฐานตามมูลค่า โดยฐานตามปริมาณคิดภาษีที่อัตราคงที่ต่อมวน และฐานตามมูลค่าที่คิดภาษีเป็นร้อยละต่อราคาขายปลีก จากปัญหาที่พบในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากการคำนวณภาษีฐานตามมูลค่า ดังนั้น แนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานภาษีบุหรี่ไปเป็นฐานตามปริมาณเพียงฐานเดียวเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือคงฐานผสมตามเดิมแต่ให้สัดส่วนฐานตามปริมาณมากกว่าฐานตามมูลค่าเช่นเดียวกับประเทศเดนมาร์ก จะเป็นการช่วยลดแรงจูงใจของ ผู้ประกอบการในการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีและทางการค้า เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้บุหรี่เป็นสินค้าที่แพร่หลายและเข้าถึงได้ง่าย นอกจากฐานภาษีแล้ว อัตราภาษีก็เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมปริมาณการบริโภคการทบทวนอัตราภาษีอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยเฉลี่ยของประชากร เพื่อให้ราคาบุหรี่ยังคงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลต่ออำนาจการซื้อของผู้บริโภค ช่วยลดปริมาณการบริโภคบุหรี่ลงได้แนวทางการปรับใช้กฎหมายทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานภาษีและการกำหนดอัตราภาษีมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้กฎหมายภาษีสรรพสามิตบรรลุผลในการควบคุมปริมาณการบริโภคบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจที่ดีของประเทศ
Description: เอกัตศึกษา(ศศ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560
Degree Name: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: กฎหมายเศรษฐกิจ
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61096
URI: http://doi.org/10.58837/CHULA.IS.2017.23
metadata.dc.identifier.DOI: 10.58837/CHULA.IS.2017.23
Type: Independent Study
Appears in Collections:Law - Independent Studies

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
598 62757 34.pdf9.97 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.